วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โครงการห้องสมุดเครือข่ายมหิดลพญาไทเกิดแล้ว: ได้แรงบันดาลใจจากเรา

.
สืบเนื่องจากส่วนงานต่าง ๆในวิทยาเขตพญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทยศาสตร์ วิทยาลัยการจัดการ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา มีแนวคิดที่จะร่วมทำกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย โดยใช้ชื่อว่า "เครือข่ายมหิดลพญาไท" ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนั้นมีการประสานงานร่วมกันอย่างมีระบบร่วมกันมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่มหาวิทยาลัยและสังคม

ในฐานะที่ฝ่ายการพัสดุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายฯ จึงมีนโยบายร่วมกันกับฝ่าย/งาน/หน่วยพัสดุของส่วนงานในเครือข่ายมหิดลพญาไท โดยจัดทำ “โครงการเครือข่ายพัสดุมหิดลพญาไท” และในแผนปฏิบัติการของโครงการฯ ได้กำหนดให้มีกิจกรรมเพื่อสังคม(Corporate Social Responsibility - CSR) ไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งงานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยายาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รับหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานส่วน CSR เครือข่ายมหิดลพญาไท และเป็นที่ประจักษ์ว่าโครงการห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคมเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมมาก ดังนั้นเครือข่ายมหิดลพญาไทจึงมีมติกำหนดให้มี “โครงการห้องสมุดเครือข่ายพญาไทเพื่อสังคม” เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นกิจกรรมแรกที่จะดำเนินการจัดทำ โดยการรับบริจาค หนังสือ ตู้ ชั้นวางหนังสือ คอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์รุ่นเก่า หมึกพิมพ์และผลิตสื่อการศึกษาตามความต้องการของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งออกแบบและจัดห้องสมุด โครงการนี้นอกจากเป็นประโยชน์ต่อสังคมแล้วยังเป็นการสนับสนุนให้โรงเรียนมีห้องสมุดเพื่อเพิ่มโอกาสและส่งเสริมทางการศึกษารวมทั้งมีแหล่งค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

คณะกรรมการฯ ได้เริ่มประชุมระดมสมองกันเพื่อเริ่มลงมือกันเลย เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2553 และตั้งเป้าหมายว่าจะทำการส่งมอบห้องสมุดให้โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกแล้วโดยการพิจารณาจากคุณสมบัติที่เหมาะสม ในวันเด็กปี พ.ศ. 2554 นี้

.

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผู้ใจบุญมอบของดีๆสำหรับเด็กให้ในโครงการห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม

.
หลังจากที่โครงการห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคมครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ประสบความสำเร็จเป็นที่พึงพอใจทั้งผู้ให้และผู้รับแล้ว โครงการห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคมครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 และ 5 ก็ต้องดำเนินต่อไป















ในช่วงที่กำลังจัดทำโครงการครั้งใหม่ มีผู้ใจบุญมอบของดีๆสำหรับเด็กให้ในโครงการห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคมอีกแล้ว ท่านคือ ศาสตราจารย์รณชัย คงสกนธ์ ซึ่งเป็นรองคณบดีฝ่ายการพัสดุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ของที่ท่านมอบให้ทั้งหมดนี้เป็น หนังสือ Printer โต๊ะ เครื่องเล่นสำหรับเด็กมากมาย ท่านทราบไหมว่าของเล่นเหล่านี้มีส่วนพัฒนาให้เด็กที่ใช้ของดังกล่าวนี้ คือ บุตรชายของท่าน ได้เป็นนักศึกษาแพทย์แล้ว


ในฐานะผู้ที่ผลักดันให้เกิดโครงการห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม ศาสตราจารย์รณชัย คงสกนธ์ ได้คำนึงถึงการแบ่งปันสิ่งดีๆให้มีโอกาสเท่าเทียมกันได้โดยการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ท่านใดที่มีแนวคิดเช่นเดียวกันนี้ ขอให้แจ้งให้คณะทำงานทราบเราจะได้ร่วมมือกันทำประโยชน์ต่อสังคมต่อไป


.

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

พิธีส่งมอบ"ห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม" แห่งที่ 2 ให้แก่โรงเรียนวัดโพธิ์ประสิทธิ์ อ. มหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

.
วันพุธที่ 8 กันยายน 2553 เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ คณะทำงานโครงการ"ห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม" ได้บรรลุภาระกิจของการส่งมอบ "ห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม" แห่งที่ 2 ให้แก่โรงเรียนที่มีคุณสมบัติตามโครงการฯ คือโรงเรียนวัดโพธิ์ประสิทธิ์ อ. มหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย ศาสตราจารย์รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีฝ่ายการพัสดุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในการส่งมอบครั้งนี้ ความรู้สึกปลื้มปิติมีทั้งผู้ให้และผู้รับรวมทั้งเด็กๆก็ชื่มชมและมีความสุขที่ได้ใช้ห้องสมุดใหม่


นอกจากคณะทำงานฯ จะออกแบบพื้นที่การใช้สอยภายในห้องสมุดให้โรงเรียนที่มีคุณสมบัติตามโครงการฯแล้ว คณะกรรมการฯ จะมอบหนังสือใหม่สั่งตรงจากร้านตามที่โรงเรียนต้องการ รวมถึงครุภัณฑ์ ทั้งตู้ ชั้นวางหนังสือ โต๊ะ เก้าอี้ ซึ่งเป็นครุภัณฑ์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งยังมีคุณภาพดีแต่ได้นำมาปรับปรุงให้อยู่ในสภาพสวยงาม รวมถึงจัดหาคอมพิวเตอร์ หมึกพิมพ์ เครื่องพิมพ์ ให้เด็กๆทำการบ้าน ทำรายงานและท่องโลกอินเทอร์เน็ตและเป็นการปลูกฝัง นิสัยรักการอ่าน และเป็น การเรียนรู้ตลอดชีวิต(Lifelong Learning)





















คณะทำงานโครงการฯ ขอขอบคุณผู้สื่อข่าวช่อง 7 ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในเรื่องของการปลูกฝัง นิสัยรักการอ่าน และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต(Lifelong Learning) โดยให้ความอนุเคราะห์เผยแพร่ข่าวในพิธีส่งมอบ"ห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม" แห่งที่ 2 ให้แก่โรงเรียนวัดโพธิ์ประสิทธิ์ อ. มหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการนี้จะสำเร็จลงไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและผู้มีจิตศรัธทาที่มอบเงินและหนังสือให้กับโครงการฯ คณะทำงานโครงการฯ ขอขอบคุณ มา ณ ที่นี้ด้วย

คณะทำงานฯขอยืนยันว่า โครงการ"ห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม" แห่งที่ 3 แห่งที่ 4……กำลังจะดำเนินการต่อมาให้แก่โรงเรียนที่มีคุณสมบัติตามโครงการฯ ในเร็วๆนี้
.

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โครงการห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม ครั้งที่ 2 ที่โรงเรียนวัดโพธิ์ประสิทธิ์ (วิบูลย์บำรุง)

.




โรงเรียนที่ 2 ของโครงการห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคมเริ่มแล้ว คณะทำงานของโครงการฯได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ของโรงเรียนโรงเรียนวัดโพธิ์ประสิทธิ์ (วิบูลย์บำรุง)เป็นครั้งที่ 2 ผู้อำนวยการ คณะครูและนักเรียนให้การต้อนรับดีมาก









โรงเรียนวัดโพธิ์ประสิทธิ์ (วิบูลย์บำรุง)เป็นโรงเรียนระดับ อนุบาลถึง ม. 3 ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านนา อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงเรียนเก่ามาก ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2481 โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ประสิทธิ์ เป็นสถานที่เล่าเรียน ขุนบริหารธนานันท์ นายอำเภอมหาราชเป็นผู้จัดตั้ง ต่อมา ในปีพ.ศ. 2552 อาคารเรียนแบบ ป.1 ข ได้ชำรุดทรุดโทรมลง ไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน ได้มีผู้ใจบุญคือ คุณแม่สมศรี คุณนุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ พร้อมด้วยครอบครัว ได้กรุณาบริจาคเงินสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.105/29 ไว้ให้เห็นในปัจจุบัน



อย่างไรก็ตามโรงเรียนแห่งนี้ก็ยังขาดวัสดุ ครุภัณฑ์และหนังสือในห้องสมุด คณะทำงานของโครงการฯในห้องสมุด ซึ่งคณะทำงานของโครงการฯ ลงมติเห็นพ้องกันที่จะส่งมอบวัสดุ ครุภัณฑ์และหนังสือ ในวันที่ 8 กันยายน 2553 นี้

ในการนี้โรงเรียนใด ประสงค์จะได้รับการสนับสนุนจากโครงการห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม หลังจากที่ท่านอ่านรายละเอียดของโครงการแล้ว สนใจกรุณาเปิดดูใบสมัคร เพื่อเข้าร่วมโครงการ หรือ ติดต่อที่ คุณ วัชรินทร์ กนกทรัพย์ 02-2012341, 02-2012339
.

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

พิธีส่งมอบ "ห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม" แห่งที่ 1


วันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2553 เวลา 09.00 -10.00 น. เป็นวันที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำ“พิธีมอบห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคมครั้งที่ 1”ณ รร.สกัด 80 อ.บางประกง จ.ฉะเชิงเทรา





คณะทำงานฯ รองคณบดีฝ่ายการศึกษา รองศาสตราจารย์สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ และผู้ช่วยคณดีฝ่ายการพัสดุ คุณสมพร โชติวิทยธารากร ออกเดินทางออกจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เวลา 07.30 น. พวกเราเตรียมขนและติดตั้งอุปกรณ์ประกอบพิธีส่งมอบห้องสมุดฯ เช่น ริบบิ้นสำหรับประธานฯตัด การตกแต่งด้วยลูกโป่ง เป็นต้น (คุณพจน์ จ้อยโสภณ เลขานุการ และคุณจเร ทั่งโต ผู้ช่วยเลขานุการ เดินทางมาก่อนเพื่อแก้ไขอุปกรณ์บางอย่างที่ไม่สมบูรณ์ ตั้งแต่ 6.00 น. แล้ว .......ขอชื่นชมมากค่ะ)
































รองศาสตราจารย์สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ เป็นประธานในพิธีนี้ค่ะ โดยมีคุณสมพร โชติวิทยธารากร เป็นผู้กล่าวที่มาของโครงการ และพิธีสิ้นสุดเวลา 10.00 น.








ผู้อำนวยการ คือ อาจารย์จงกล จั่นนิล แขกผู้มีเกียรติและนักเรียน รร.สกัด 80 ให้การต้อนร้บเป็นอย่างดี














นักเรียนมาแสดงกิจกรรมเป็นการเต้นประกอบเพลง และร้องเพลง เพื่อขอบคุณโครงการนี้
ดูจากสีหน้า.....เด็กๆทุกคนมีความสุขมากค่ะ












วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

การขนย้ายและติดตั้งห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม: เหนื่อยแต่ภูมิใจ







วันนี้ได้ฤกษ์ดีของโครงการห้องสมุดรามาธิบดีเพื่อสังคม ในการขนย้ายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งหนังสือ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ แม้ว่าจะหนัก ร้อน เหนื่อย แต่ทุกคนก็สนุกและเต็มใจ เราเดินทางไปโดยใช้รถบรรทุกเล็กสำหรับใส่ของและรถตู้สำหรับทีมงานหลายชีวิตปรากฏว่ามีการพลัดหลงกันระหว่างรถ 2 คันนี้ กว่าจะประสานงานกันได้ ก็ใช้เวลาพอสมควร







ก่อนที่จะมีการจัดวางของทั้งหมดเข้าห้อง ต้องมีการตกแต่งส่วนที่เสียหายในขณะขนย้าย เช่น ทาสี ซ่อมขาเก้าอี้ จัดหนังสือ ทำผ้าม่าน และอื่นๆ ดูซิคะ ......สนุกดีแม้จะเหนื่อยและอากาศร้อน



เราใช้เวลา 2 วัน คือวันที่ 27 -28 เมษายน 2553 หลังจากที่คณะทำงานติดตั้งสิ่งต่างๆที่ขนย้ายมาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเรียบร้อยแล้วจะมีการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ

และแล้วก็พบกับความสำเร็จภายในห้องสมุดมีเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสม มีคอมพิวเตอร์ มีหนังสือ มีผ้าม่านสีสวย และมีอีกหลายอย่างที่สมควรจะให้มีในห้องสมุดสำหรับเด็กๆ ระดับ อนุบาลและประถมศึกษาที่มีนักเรียน ประมาณ 60 คน


























จากการที่คณะทำงานฯ ได้ช่วยกันดำเนินการโครงการนี้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6 เดือน พบว่านอกจากผู้อำนวยการและเด็กนักเรียน (โรงเรียนนี้มีนักเรียนระดับ อนุบาล -ป.6) ของโรงเรียนสกัด 80 จ.ฉะเชิงเทรา จะตื่นเต้นและดีใจมากที่โรงเรียนของพวกเขาจะมีห้องสมุดที่สมบูรณ์ขึ้น รวมทั้งมีคอมพิวเตอร์ พร้อมเครื่องพิมพ์ ที่ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมอบให้แล้ว ทางคณะทำงานฯเองก็ดีใจเช่นเดียวกันที่ได้ทำสิ่งดีๆเพื่อสังคม ตามนโยบายคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีด้วยเช่นกัน


วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

ลงมือแล้ว......ความสำเร็จอยู่ข้างหน้า


คณะทำงานฯและผู้เกี่ยวข้องให้ความร่วมมิอกันอย่างเต็มที่ โดยการออกแบบการจัดวาง การคัดเลือกเฟอร์นิเจอร์ และครุภัณฑ์ ที่มีสภาพดี
สามารถนำมาใช้งานได้



คณะทำงานฯ บางคนมัฝีมือ ก็จะทำด้วยตนเอง เช่น ขัดและทาสีชั้นหนังสือ และอื่นๆอีกมากมาย แม้ว่าจะเหนื่อยคณะทำงานฯ ก็เต็มใจและมุ่งมั่นที่จะทำให้ดีที่สุด เห็นแล้วชื่นชมมาก



มีผู้มีจิตศรัทธา บริจาคหนังสือมาให้มากมาย ล้วนแต่เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ต่อเด็กๆทั้งสิ้น

สำรวจพื้นที่และสำรวจพัสดุครุภัณฑ์ก่อนดำเนินการ














คณะทำงานฯเดินทางไปสำรวจพื้นที่ของโรงเรียนทั้งสองแห่งแม้ว่าจะหลงทางบ้างเพราะเรายังไม่เคยมาที่โรงเรียนทั้ง 2 แห่ง มาก่อนและไม่มีผู้นำทาง
จากการที่ได้สำรวจพื้นที่ พบว่า เราควรจะรีบทำให้โครงการนี้เป็นจริงโดยเร็ว .........คาดว่าไม่มีอุปสรรคค่ะ...
เราน่าจะดำเนินการได้ดังนี้ คือ ออกแบบ การจัดวางโต๊ะ ชั้นหนังสือ ตู้ใส่ของ คอมพิวเตอร์ ให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ห้องของโรงเรียนที่จะทำเป็นห้องสมุด และกำหนด จำนวน /สี/รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนั้นเรายังกำหนดให้มีโลโก้ "ห้องสมุดรามาธิบดี" และ เสื้อคณะทำงานนี้เป็นสีม่วงสวยงาม